ประวัติความเป็นมา

คุณหญิงเบญจา แสงมลิ

ปูชนียาจารย์ของวงการศึกษาไทย

ความเป็นมาของอนุบาล

          คุณหญิงเบญจา แสงมลิ เป็นผู้มีส่วนสําคัญยิ่งในการวางรากฐาน การจัดอนุบาลศึกษาของไทยให้สามารถขยายไปทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเจริญก้าวหน้ามาเป็นลําดับ นับตั้งแต่ยุคที่กระทรวงศึกษาธิการริเริ่มบุกเบิกโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ในปี พ.ศ.2486 ในฐานะหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ได้จัดทําหลักสูตรฝึกอบรมครูอนุบาลอย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นําวิธีการสอนแบบหน่วยเข้ามาประยุกต์ใช้ในประเทศเป็นครั้งแรก ทําการฝึกอบรมครูอนุบาลทั่วประเทศ ได้สร้างความเข้าใจและความ ตระหนักในความสําคัญของการอนุบาลศึกษาว่า เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ เพื่อการเรียนรู้ในระดับสูงอย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้นท่านยังสร้างผลงานจํานวนมากทั้งด้านการเขียนหลักสูตร บทความทางวิชาการ นิทาน และแต่งเพลงสําหรับเด็กอนุบาล รวมทั้งได้ส่งเสริมการผลิตสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญาของเด็กเล็ก 

          ท่านเป็นทั้งครูของครูอนุบาล เป็นผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล เป็นที่ปรึกษา และวิทยากรให้โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ และสถาบันผลิตครูของมหาวิทยาลัยต่างๆ คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ได้ใช้ความอุตสาหะ พยายามอย่างสูง เพื่อพัฒนาการอนุบาลศึกษามาตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนถึงยุคที่โรงเรียนอนุบาลเบ่งบานไปทั่วประเทศ จากผลงานในการทําคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ด้วยการทุ่มเทเวลาทั้งชีวิต อุทิศกําลังกาย พลังสมอง และทรัพย์สมบัติส่วนตัว เพื่อพัฒนาการอนุบาลศึกษาจนประสบความสําเร็จมาโดยตลอด คุณหญิงเบญจา แสงมลิ จึงได้รับการยกย่องจากวงการศึกษาให้เป็น “ปรมาจารย์ด้านการอนุบาลศึกษาไทย” 

          คุณหญิงเบญจา แสงมลิ เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2458 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นธิดาคนโตในจํานวน บุตร 3 คน ของหลวงชํานาญบัญชี (นายคัณฐา ตุงคะสิริ) ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงธรรมการเดิม) กับนางผัน ตุงคะสิริ ด้วยความเป็นบุตรคนโตท่านจึงได้รับการบ่มเพาะความมีจิตใจเข้มแข็งจากบิดา มีความอดทนเป็นเลิศ เป็นนักสู้ผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ และเป็นนักแก้ปัญหาชั้นเยี่ยม อีกทั้งยังได้ซึมซับความสามารถในการแต่งกลอนแต่งเพลง เล่านิทาน และการเย็บปักถักร้อยจากมารดา ทําให้ท่านมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดทําสื่อการเรียน และแนวคิด ในการผลิตของเล่นเพื่อการเรียนรู้สําหรับเด็กเล็ก 

          คุณหญิงเบญจา แสงมลิ สมรสกับท่านอาจารย์สมาน แสงมลิ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากทั้งสองท่านไม่มีบุตรธิดา แต่มีภาระหน้าที่และความผูกพันด้านการศึกษาเหมือนกัน ทั้งสองท่านจึงทุ่มเทเวลาเกือบตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย หลายครั้งที่สามารถร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติทางการศึกษาจนเกิดประโยชน์ยิ่ง ต่อทางราชการโดยเฉพาะในช่วงที่มีการรวมหน่วยงานหลักของการประถมศึกษาเข้าด้วยกัน หลังจากท่านปลัดสมาน แสงมลิ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2531 คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ยังคงเขียนหนังสือบทความ แต่งกลอน และเพลงสําหรับเด็กอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2550 สิริรวมอายุ 91 ปี 

          การบุกเบิกอนุบาลศึกษาไทย ในอดีตการอนุบาลศึกษาของไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย มีโรงเรียนเอกชน เพียง 2 แห่ง ที่เปิดสอนระดับอนุบาล ได้แก่ โรงเรียนมาแตร์เดอี และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2482 กระทรวงศึกษาธิการเริ่มมีนโยบายที่จะเปิดโรงเรียนอนุบาลของรัฐ เมื่อคุณหญิงเบญจา แสงมลิ กลับมาเมืองไทย ในปี พ.ศ.2486 เป็นช่วงที่กระทรวงศึกษาธิการกําลังเตรียมการโครงการเปิดและขยายโรงเรียนอนุบาลเพื่อเป็น ต้นแบบขึ้นให้ครบทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 โรง ซึ่งหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย หัวหน้ากองการฝึกหัดครูในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เปิดแผนกฝึกหัดครูอนุบาลหลักสูตร 1 ปี เพื่อฝึกอบรมครูอนุบาลไว้รองรับการเปิดโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ และอาจารย์เบญจา แสงมลิ ซึ่งจบการศึกษาวิชาครูอนุบาลโดยตรง และจิตวิทยาการศึกษาสําหรับเด็กจากประเทศญี่ปุ่น จึงได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล ปฏิบัติงานฝึกหัดครูอนุบาลรุ่นที่ 1 ณ โรงเรียนการเรือนพระนคร 

          ในปี พ.ศ.2486 ท่านได้บุกเบิกการอนุบาลศึกษาโดยจัดทําหลักสูตรการฝึกหัดครูอนุบาลสมัยใหม่ แบบมอนเตสเซอรี่เต็มรูป และทําอย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ได้นําหลักสูตรไปทดลองและปฏิบัติ การสอนแก่นักเรียนฝึกหัดครูอย่างได้ผลดีหลายต่อหลายรุ่น ได้เชิญผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมกันเป็นวิทยากร ท่านปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุบาลศึกษาอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งแก่ศิษย์ ได้ใช้วิธีการสอนที่ก้าวหน้า โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานไม่เครียด อีกทั้งยังบ่มเพาะให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมสําหรับเด็กอนุบาลได้อย่างหลากหลาย 

          ในปี พ.ศ.2490 คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บริหารโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ โดย เป็นทั้งครูของนักเรียนฝึกสอนและผู้คุมการสอนของนักเรียนฝึกหัดครูทั้งหมด ท่านส่งครูอนุบาลไปสอนที่แผนกฝึกหัดครูและนักเรียนฝึกหัดครูก็มาปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนอนุบาลทุกคน จึงได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในเวลาเดียวกันครูอนุบาลและนักเรียนฝึกหัดครูจึงได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง แม้ว่าท่านต้องทําหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกันทั้งหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาลและผู้คุมการสอนและฝึกอบรมครู คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ไม่เคยท้อถอยกลับมุ่งมั่นทํางานเพื่อให้การอนุบาลเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย โดยการปรับปรุงหลักสูตรและจัดฝึกอบรมครูอนุบาล ทั่วประเทศ พยายามเผยแพร่วิธีการสอนที่ทําให้เด็กๆ ได้มีพัฒนาการที่ดี เด็กมีความสุขที่ได้เล่น ได้ฟังนิทาน ได้อยู่กับเพื่อนๆ รู้จักการแบ่งปันและใฝ่รู้ ท่านได้ผลักดันให้โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศกลายเป็นโรงเรียนอนุบาลตัวอย่างมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ปกครองในการนําบุตรหลานเข้าโรงเรียนอนุบาลเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

          เมื่อ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครูในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ คุณหญิงเบญจา แสงมลิ จัดการเรียนการสอนโรงเรียนประถมตัวอย่างในโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ท่านก็ได้นําเอาวิธีการสอนแบบหน่วยเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยดัดแปลงเพื่อประยุกต์เข้าให้เหมาะสมกับเด็กไทย ท่านได้เขียนหนังสือ “ประมวลการสอนอนุบาล สําหรับวิธีสอนแบบหน่วย” เพื่อเป็นแนวทางและวิธีการสอนให้แก่ครูอนุบาลได้นํามาใช้สอนเด็ก ทําให้โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศกลายเป็นศูนย์วิชาการอบรมครูประถม ครูโรงเรียนราษฎร์และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจส่งครูเข้ารับการอบรม 

          จากการได้รับการยอมรับในความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการพัฒนาเด็กทั้งระดับอนุบาลและประถมศึกษา คุณหญิงเบญจา แสงมลิ จึงได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรฝึกอบรม เป็นกรรมการและที่ปรึกษาของสถานศึกษาสถาบันการฝึกหัดครูและหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ ซึ่งท่านได้ให้คําปรึกษาแนะนําเป็นอย่างดีด้วยความเต็มใจ 

“งานปลูกฝังอบรมเด็กให้เติบโตมีความเจริญนี้เป็นงานหนักที่สุด แต่เป็นสิ่งเดียวที่จะทําให้ชาติดํารงอยู่ได้ ครูอนุบาล จึงเป็นครูคนแรกในชีวิตเด็ก การอนุบาลจึงมีความสําคัญยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จะอยู่ในแบบศูนย์เด็ก ศูนย์โภชนาการ ศูนย์เด็กอ่อน หรือชั้นเด็กเล็กก็ตามที่ใดซึ่งพลเมืองทั้งหญิงชายออกทํางานนอกบ้าน ที่นั่นต้องการความช่วยเหลือ จากการอนุบาล ทั้งสิ้น” 

ประวัติที่มาโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัด 

โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดเกิดขึ้นจากนโยบายเปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นในจังหวัดต่างๆ ภายหลังการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศในปี พ.ศ.2483 

ประวัติที่มาโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัด 

          ปี พ.ศ.2482 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐเต็มรูปแบบขึ้น เพราะก่อนหน้านี้การอนุบาลศึกษาของไทยมีโรงเรียนที่จัดสอนชั้นอนุบาลเป็นโรงเรียนเอกชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนมาแตร์เดอีและโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยมีการประกาศรับสมัครผู้สนใจเพื่อสอบชิงทุนไปศึกษาและดูงานด้านการอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คือ นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา (คุณหญิงจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา) เมื่อกลับจากการศึกษาและดูงาน ได้จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศในบริเวณโรงเรียนการเรือนพระนคร (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) เปิดทําการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2483 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ 

          กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ให้ครบทุกจังหวัด ในปี พ.ศ.2486 จึงมอบหมายให้นางสาวเบญจา ตุงคะสิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมลิ) ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาด้านอนุบาลศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ทําหน้าที่หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล ซึ่งนางสาวเบญจา ตุงคะสิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมลิ) ถือเป็นหนึ่งในสี่ของผู้ได้รับทุนไปศึกษาด้านการอนุบาลศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นรุ่นแรก อีกสามคน คือ นางสาวสมถวิล สวนสําอาง นางสาวสวัสวดี วรรณโกวิท และนางสาวเอื้อนทิพย์ เปรมโยธิน 

          ปี พ.ศ. 2484 ได้เปิดแผนกฝึกหัดครู โดยรับนักเรียนฝึกหัดครูเข้าศึกษาวิชาอนุบาล หลักสูตร 1 ปี โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดทั้งสิ้น 80 โรงเรียน (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยังไม่รวมจังหวัดบึงกาฬ) โดยแต่ละจังหวัดจะมีโรงเรียนอนุบาลจังหวัดละ 1 โรงเรียน ยกเว้นกรุงเทพมหานครมี 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ และโรงเรียนอนุบาลสามเสน และจังหวัดพิจิตรมี 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลพิจิตรและโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก”ราษฎร์อุทิศ” (ซึ่งเป็นบ้านเกิด คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ) 

          ต่อมาในเดือนกันยายน 2555 ได้มีการประกาศรายชื่อโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดเพิ่มอีก 1 จังหวัด คือ โรงเรียนอนุบาลบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จึงทําให้มีโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัด 81 โรงเรียน (ตามประกาศ สพฐ. ลงวันที่ 13 กันยายน 2555 เรื่องรายชื่อโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัด) ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัด 77 จังหวัด 82 แห่ง 

          นอกจากนี้ยังมีชื่อโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดที่มีชื่อโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ชื่อจังหวัดเพียงอย่างเดียว คือ โรงเรียนราชานุบาล (โรงเรียนนอนุบาลประจําจังหวัดน่าน ชื่อโรงเรียนได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหนังสือสํานักราชเลขาธิการ ที่ รล/0741 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2507) โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดอุทัยธานี) โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์ (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดฉะเชิงเทรา) โรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงคราม (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดสมุทรปราการ) โรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดอ่างทอง) โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดนครศรีธรรมราช) และโรงเรียนอนุบาลลําปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) (โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดลําปาง) ตราสัญลักษณ์โรงเรียนอนุบาลเป็นรูปอักษร อ สามเหลี่ยม มีดอกบัวอยู่กลางอักษร โรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดมีการตั้งเป็นสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจําจังหวัดแห่งประเทศ โดยมี ดร.สําเริง กุจิรพันธ์ ผู้อํานวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันมี นายชาญชัย ไชยพิศ